วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2557

หลักการทำบุญในทางพระพุทธศาสนา


    พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า " มนุษย์ไม่ว่า หญิงหรือชาย ยากจนหรือมั่งมี ต่างมีความปรารถนาที่เหมือนกันอยู่ ๔ ประการ " อันได้แก่ 


๑.         ความเป็นผู้มีทรัพย์สิน แก้วแหวน เงิน ทอง
๒.         ความเป็นผู้มียศถาบรรดาศักดิ์
๓.         ความเป็นคนมีอายุยืนยาว
๔.         เมื่อตายไป ปรารถนาเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์

และพระบรมศาสนดายังตรัสอีกว่า สิ่งอันผู้คนปรารถนาเหมือนกันทั้ง ๔ ประการนั้นจะสำเร็จได้ด้วย " บุญ " เท่านั้น การทำบุญจึงเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนต่างพากันขวนขวายอยู่เนื่อง ๆ
         

หลักการทำบุญในพระพุทธศาสนา มีอยู่ ๓ ประการ เรียกว่า "บุญกิริยาวัตถุ ๓" ได้แก่


๑.         ทานมัย  ( การให้ทาน )
๒.         ศีลมัย     ( การรักษาศีล )
๓.         ภาวนามัย ( การเจริญภาวนา )

บุญกิริยาวัตถุประการแรกคือ ทาน แปลว่า การให้  เช่น การให้ข้าวให้น้ำ  ให้เสื้อผ้า ให้ยานพาหะนะ  ให้สิ่งของสำหรับบูชาพระ ให้ทีนอนหมอนมุ้ง และให้ประทีป ธูป เทียน ให้ทุนการศึกษา (วิทยาทาน) หรือแม้แต่การให้อภัย  ( อภัยทาน)  ก็สงเคราะห์เข้าในความหมายของคำว่า  ทาน  ทั้งสิ้น    ผู้มีความปรารถนาบุญจึงให้ทานเพราะคำว่าบุญ  นี้เป็นชื่อของความสุข ดังคำพระที่ว่า  สุโข  ปุญญัสสะ อุจจะโย ( การสั่งสมบุญนำมาซึ่งความสุข )
          

            " ให้ทานอย่างไรจึงจะมีผลมากมีอานิสงส์มาก "   ผู้ที่ให้ทานต้องการให้ทานที่ตนกระทำมีผลมากมีอานิสงส์มาก ต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบ ๔ ประการคือ


๑.         ตัวของผู้ให้ ( ทายก) ต้องเป็นผู้มีศีล จึงเป็นธรรมเนียมว่าก่อนถวายทานเราต้องรับศีล
๒.         ผู้รับ  ( ปฏิคาหก ) หมายถึง พระสงฆ์ หรือบุคคลที่รับของ ต้องเป็นคนมีศีล เป็นคนดี
๓.         สิ่งของที่ให้  เป็นของที่ได้มาโดยบริสุทธิ์  ไม่ใช่ของที่ไปลักขโมยของคนอื่นมาให้ทาน
๔.         เจตนา   เจตนาของผู้ให้ทานต้องสมบูรณ์พร้อมทั้ง ๓ กาล อันได้แก่
                ๑. ก่อนให้  ก็มีใจยินดี  (บุพพเจตนา)
           ๒.ขณะกำลังให้  ก็มีใจรื่นเริง  (มุญจนเจตนา ) 
           ๓. ให้แล้ว ก็มีใจเบิกบาน ไม่รู้สึกเสียดายทรัพย์หรือสิ่งของที่ตนได้ให้ไป ( อปราปรเจตนา)


              เมื่อทำบุญด้วยการให้ทานครบองค์ประกอบทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว ผลหรืออานิสงส์ที่จะพึงได้รับย่อมมีผลมากมีอานิสงส์มากดังกล่าวมา ดังนั้น ผู้ประสงค์จะให้ทานพึงศึกษาให้เข้าใจและปฎิบัติตามก็จะได้ส่วนแห่งบุญที่สมบูรณ์ไม่ตกหล่นอย่างไม่ต้องสงสัย






                         


ศาสนพิธีและวัฒนธรรมไทย

              

              นักปราชญ์ราชบัณฑิตได้เปรียบเปรย “ พระพุทธศาสนา ” เหมือนต้นไม้ ธรรมดาว่าต้นไม้น้อยใหญ่จะมีส่วนประกอบที่สำคัญอยู่ ๒ ส่วน คือ แก่น กับ กระพี้ หรือ เปลือก ทั้งแก่นกับกระพี้ย่อมไม่มีวันแยกจากกันได้แต่หากอาศัยและเกื้อกูลกันและกันจึงยังคงเป็นต้นไม้ที่ยืนหยัดอยู่ได้ฉันใด พระพุทธศาสนา ก็มีศาสนธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาเป็นแก่น ส่วนที่หุ้มห่อแก่นธรรมไว้ก็คือ ศาสนพิธีกรรมทั้งหลายทั้งมวลฉันนั้น  บรรพบุรุษที่ชาญฉลาดจึงใช้ศาสนพิธีเป็นเครื่องนำศาสนิกชนเข้าสู่แก่นธรรมของศาสนา  ดังนั้น การทำความเข้าใจและปฏิบัติพิธีทางศาสนาที่เรียกว่า ศาสนพิธี ให้ถูกต้องจึงเป็นการรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่และเจริญรุ่งเรืองต่อไป

                   บทความที่ปรากฏในกระดานเวปบอร์ดนี้     มีความมุ่งหมายให้ผู้สนใจได้เข้าใจลำดับพิธีหรือขั้นตอนการปฏิบัติของพิธีกรรมนั้น ๆ เป็นสำคัญ อาจจะกล่าวได้ว่า ลำดับพิธีเป็น Road Map  ของการนำพิธีกรรมต่าง ๆ มาใช้ให้ได้จริงเป็นรูปธรรม เป็นแนวทางสำหรับพิธีกร  แต่เป็นการนำเสนอเพียงหนึ่งทางเลือกให้ท่านผู้สนใจได้ศึกษาเป็นตัวอย่างซึ่งท่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่ต่างกันออกไป เช่น การปฏิบัติให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณีนิยม เป็นต้น และอีกประการหนึ่งเพื่อเป็นช่องทางในการนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้เหมาะกับยุคสมัยเพื่อความผาสุกและสวัสดีของสังคมสืบไป................